Resources --> GIS Resource |
บทสัมภาษณ์ เรื่องการจัดการปัญหาด้านแผ่นดินถล่ม โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ สมบัติ อยู่เมือง ศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศเพื่อประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย [ GISTHAI ] e - mail : sombat@gisthai.org บทสัมภาษณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สมบัติ อยู่เมือง หัวหน้าศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศเพื่อประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย [ GISTHAI ] กล่าวว่า ขณะนี้ได้เตรียมข้อมูลเชิงพื้นที่ เพื่อทำการวิเคราะห์และสร้างแบบจำลองในการจัดการปัญหาด้านแผ่นดินถล่มตามหลักวิชาการที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อใช้วางแผนสำหรับใช้ในการปฏิบัติการระยะยาวในพื้นที่เสี่ยงภัย ในบ้างพื้นที่ เช่น บริเวณบ้านน้ำก้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ และบริเวณจังหวัดภูเก็ต เพื่อเป็นต้นแบบ และขยายผลต่อไปในพื้นที่อื่นๆในประเทศไทย เพื่อทำการป้องกัน เฝ้าระวังและลดความเสียหายจากกรณีดินถล่มให้ใช้ได้อย่างเป็นพลวัต (dynamics) ข้อมูลที่เราเห็นกันอยู่เวลานี้ที่ประกาศเป็นเขตเสี่ยงภัยทั่วประเทศนั้น เป็นข้อมูลที่ต่างหน่วยงานต่างทำ เช่น เวลานี้ หน่วยบรรเทา สาธารณภัยของกระทรวงมหาดไทย และกรมพัฒนาที่ดิน เป็นต้น โดยใช้แนวทางและหลักการทางวิชาการที่ยังไม่มีความชัดเจนและแตกต่างกัน ซึ่งยังไม่ได้ใช้หลักการ และการวิเคราะห์วิจัยในเชิงวิชาการอย่างเป็นระบบมากนัก เราไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างยั่งยืน ผลการศึกษาที่ออกมาส่วนใหญ่จะออกมาแบบเหมารวมเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยการนำเอาไปจัดสรรงบประมาณเป็นหลักต่างหาก เช่น ไม่มีการแยกแยะให้ชัดเจนระหว่าง พื้นที่ที่มีโอกาสเกิดปัญหาดินถล่มในระดับต่างๆ กับพื้นที่เสี่ยงภัย ออกจากกันให้ชัดเจนเลย ผลสรุปของการทำรายงานเรื่องนี้จากหน่วยงานดังกล่าวข้างต้น จึงมักจะออกมาว่าทุกพื้นที่ล้วนเป็นที่เสี่ยงภัยต่อการเกิดดินถล่มทั้งสิ้น ทำให้มีโอกาสเสนอของบประมาณเพื่อนำมาเตรียมการแก้ปัญหาจำนวนมาก ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องนัก ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมบัติ กล่าว ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมบัติ กล่าวว่า ตามหลักวิชาการแล้ว ในภูมิประเทศที่สูงใกล้เทือกเขาที่มีโอกาสเกิด และเคยเกิดแผ่นดินถล่มนั้น จะมีการนำเอาข้อมูลเชิงพื้นที่ที่ทันสมัย และเป็นปัจจัยภายใน (Intrinsic variables) ที่มีผลโดยตรงต่อการเกิด แผ่นดินถล่ม เช่น ลักษณะทางธรณีวิทยา ดิน ความชัน สิ่งปกคลุมพื้นดินและพืชพันธุ์ มาวิเคราะห์ และสร้างแบบจำลองหาพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่มในระดับความรุนแรงระดับต่างๆ ว่ามีอยู่ในบริเวณใดบ้าง ที่เป็นพื้นที่ที่มีโอกาส หรือมีศักยภาพที่จะเกิดดินถล่มบ้าง จากนั้นจะนำข้อมูลแหล่งชุมชน โครงสร้างสาธารณูปโภค มาซ้อนทับเพื่อประเมินความเสียหายทางสังคมและเศรษฐกิจใน ระดับต่างๆ อีกชั้นหนึ่ง จึงจะได้เป็นพื้นที่ที่เสี่ยงภัยในระดับต่างๆ และวิธีการจัดการปัญหาจะต้องอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่(ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และรีโมทเซนซิ่ง) เข้ามาช่วย ต้องอาศัยข้อมูลที่มีความแม่นยำมาทำการวิเคราะห์ และสังเคราะห์สร้างแบบจำลอง ไม่ใช่แค่วางแผนประชุมแก้ปัญหากันบนโต๊ะภายในระยะสั้นอย่างแน่นอน ถ้าต้องการแก้ปัญหาระยะยาวอย่างเป็นระบบ ทั้งการป้องกัน เฝ้าระวัง และการแก้ปัญหาในช่วงเกิดพิบัติภัย เมื่อถามว่า ขณะนี้สามารถบอกได้หรือไม่ว่า พื้นที่ใดในประเทศมีความเสี่ยงต่อการเกิดดินถล่ม ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมบัติ กล่าวว่า ยังไม่สามารถระบุได้ลึกขนาดนั้น เพราะไม่ได้มีการทำวิจัยในเชิงรายละเอียดในแต่ละพื้นที่ของประเทศ ออกมาอย่างชัดเจนเลย แต่เพื่อให้เกิดการเฝ้าระวังในเบื้องต้น หน่วยงานที่รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นที่ช่วยเร่งให้เกิด และอาจก่อให้เกิดดินถล่ม(Extrinsic variables) เช่น การเกิดฝนตกหนักติดต่อกัน ในพื้นที่ที่เคยเกิด และมีลักษณะทางภูมิประเทศ คล้ายคลึงกันกับพื้นที่ที่เคยเกิดแผ่นดินถล่ม เช่น กรมอุตุนิยมวิทยาอาจจะช่วยเตือนภัยได้ แต่ต้องบอกให้ทันกาล และมีรายละเอียดของพื้นที่ที่ชัดเจนในระดับอำเภอหรือตำบล ก็จะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่นั้นๆ เกิดความตระหนักและเตรียมการ เป็นการแก้ปัญหา และบรรเทาความเสียหาย ถ้าเกิดแผ่นดินถล่มขึ้นได้ในระดับหนึ่ง ดีกว่าเกิดแล้วค่อยไปช่วยแบบเดิมๆ » แนวทางการจัดการเพื่อลดความเสียหายจากพิบัติภัยแผ่นดินถล่มในประเทศไทย |