2001 debris flow and debris flood in Nam Ko area, Phetchabun province, central Thailand ( Environmental Geology 2006 51: 545-564)

บทคัดย่อ
     การศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดตะกอนไหลถล่มและน้ำปนตะกอนท่วมบ่า ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2544 บริเวณพื้นที่น้ำก้อ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ กระทำโดยใช้ข้อมูลที่จัดทำและแปลความหมายด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์และข้อมูลจากการสำรวจระยะไกล ข้อมูลจากการสำรวจภาคสนาม และข้อมูลจากการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ข้อมูลดังกล่าวยังใช้เพื่อพิสูจน์หลักฐานพื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นแหล่งกำเนิดตะกอน บริเวณที่มีการเคลื่อนตัวของตะกอน และบริเวณที่มีการสะสมตัวของตะกอน รวมทั้งกำหนดเกณฑ์ที่สามารถแสดงศักยภาพของพิบัติภัยจากการเกิดตะกอนไหลถล่มและน้ำปนตะกอนท่วมบ่า ในบริเวณลุ่มน้ำก้อใหญ่และเนินตะกอนรูปพัด การศึกษาวิจัยยังกระทำเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างลำดับชั้นของตะกอนและการเกิดตะกอนไหลถล่มและน้ำปนตะกอนท่วมบ่าในบริเวณพื้นที่เนินตะกอนรูปพัด อีกด้วย
      การวิเคราะห์เพื่อประเมินความสัมพันธ์ของปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดตะกอนไหลถล่มและน้ำปนตะกอนท่วมบ่า ได้ใช้ข้อมูลร่องรอยการเกิดตะกอนถล่มและน้ำปนตะกอนท่วมและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง มาทำการวิเคราะห์ด้วยวิธีของความน่าจะเป็นแบบตัวแปรเดี่ยว และการคำนวณค่าความสัมพันธ์ของปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดพิบัติภัยจากตะกอนไหลถล่มและน้ำปนตะกอนท่วมบ่า ผลการวิเคราะห์ได้จัดทำเป็นแผนที่แสดงความสัมพันธ์ของปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดพิบัติภัยตะกอนไหลถล่มและน้ำปนตะกอนท่วมบ่าขึ้นในพื้นที่
      สำหรับการอธิบายถึงเหตุการณ์ของการเกิดและศักยภาพของตะกอนไหลถล่มและน้ำปนตะกอนท่วมบ่านั้น สามารถสรุปได้ว่าเหตุการณ์พิบัติภัยดังกล่าวนี้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการทำงานของฝนตกหนักผิดปกติแต่เพียงอย่างเดียวตามที่คาดกันไว้ แต่เป็นการทำงานร่วมกันของปัจจัยที่มีอิทธิพลหลายประการจากลักษณะภูมิประเทศที่มีสิ่งปกคลุมดินเป็นลักษณะเฉพาะ คุณสมบัติทางธรณีเทคนิคของวัสดุรองรับในพื้นที่ และการหน่วงเพื่อการสะสมตัวของซากต้นไม้และตะกอน การประสมประสานของปัจจัยที่มีอิทธิพลดังกล่าวเหล่านี้ได้ทำให้เกิดตะกอนไหลถล่มและน้ำปนตะกอนท่วมบ่าได้ กระบวนการดังกล่าวนี้ยังทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นอีกเนื่องจากการเกิดแนวชั่วคราวกั้นการไหลตามธรรมชาติที่ต่อมาได้พังทลายลงจากน้ำหนักของน้ำที่กักเอาไว้
      หลังจากการเกิดเหตุการณ์พิบัติภัยครั้งนี้แล้ว สามารถประเมินได้ว่าต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก่อนจะเกิดเหตุการณ์ตะกอนไหลถล่มและน้ำปนตะกอนท่วมบ่าครั้งต่อไปขึ้นอีก เนื่องจากต้องการเวลาสำหรับสะสมซากต้นไม้และตะกอนในลุ่มน้ำให้มีปริมาณมากพอเสียก่อน   

Link ที่เกี่ยวข้อง: