โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ อยู่เมือง
ศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศเพื่อประเทศไทย [ GISTHAI ]
e - mail : sombat@gisthai.org
หลัง จากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินถล่มและน้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สินอย่างรุนแรง ในพื้นที่น้ำก้อเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2544 แล้วนั้น หน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง ของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น ได้ถูกมอบหมายให้ศึกษา และกำหนดเขตพื้นที่เสี่ยงภัยจากแผ่นดินถล่ม และน้ำท่วมฉับพลันทั่วประเทศขึ้น เพื่อการจัดการป้องกันภัยดังกล่าวในอนาคต และหน่วยงานดังกล่าวก็ได้ทำการวิเคราะห์ สรุปเป็นข้อมูลเผยแพร่สู่สาธารณชนได้อย่างรวดเร็วครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งไม่แน่ใจว่ากระทำโดยใช้แนวทาง และหลักการทางวิชาการอย่างไร ทำให้ได้ความหลากหลาย และมีผลสรุปที่แตกต่างกันอยู่มาก ผลสรุปที่ได้ออกมาส่วนใหญ่จะออกมาแบบเหมารวมในเขตพื้นที่ขนาดใหญ่ (regional scale) ไม่มีการแยกแยะออกจากกันให้ชัดเจน ระหว่าง พื้นที่ที่มีโอกาสเกิดดินถล่ม กับ พื้นที่เสี่ยงภัยในระดับต่างๆ ผลสรุปของการทำรายงานเรื่องนี้จากหน่วยงานดังกล่าวข้างต้น จึงมักจะออกมาว่าเกือบทุกพื้นที่ของแต่ละจังหวัด ในเขตภูเขา ล้วนเป็นที่เสี่ยงภัยต่อการเกิดดินถล่ม และน้ำท่วมฉับพลันทั้งสิ้น ทำให้มีโอกาสได้รับงบประมาณเพื่อนำมาเตรียมการแก้ปัญหาในพื้นที่จำนวนมากเอา ไว้ก่อน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ที่อาจมีความรุนแรง และความเสียหายขึ้นในบางพื้นที่ ซึ่งการใช้งบประมาณจะกระทำได้อย่างรวดเร็วในช่วงฤดูฝนที่กำลังมาถึง แต่คงไม่ใช่การจัดการเพื่อลดความเสียหายจากพิบัติภัยแผ่นดินถล่มของประเทศใน ระยะยาวที่เป็นพลวัต และบูรณาการอย่างยั่งยืนแน่นอน
การวิเคราะห์วิจัยในเชิงวิชาการอย่างเป็นระบบซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลสำหรับการจัดการพิบัติภัยดังกล่าวนี้ (รูปที่ 1)
ในขั้นตอนแรกนั้น จะใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ซึ่งเป็นปัจจัยภายใน (Intrinsic variables) ที่มีผลโดยตรงต่อการเกิดแผ่นดินถล่ม เช่น ลักษณะทางธรณีวิทยา ดิน ความชัน สิ่งปกคลุมพื้นดินและพืชพันธุ์ เป็นต้นมาทำการวิเคราะห์ และสร้างแบบจำลองประเมินหาพื้นที่ซึ่งมีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่มในระดับต่างๆ ก่อน โดยอาศัยเทคโนโลยีระบบข้อมูลเชิงพื้นที่สมัยใหม่(ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) และ รีโมทเซนซิ่ง (RS)) เข้ามาช่วยในการจัดเก็บ วิเคราะห์ และสังเคราะห์สร้างแบบจำลอง และการติดตามเฝ้าระวัง การติดตั้งระบบเตือนภัย จากนั้นจะนำข้อมูลแหล่งชุมชน โครงสร้างสาธารณูปโภค ข้อมูลด้านเศรษฐกิจ มาซ้อนทับเพื่อประเมินความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในระดับต่างๆอีกขั้นหนึ่ง จึงจะได้เป็น พื้นที่เสี่ยงภัยในระดับต่างๆ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สอง จาก นั้น ก็จะต้องทำการกำหนดแผนกลยุทธ์ด้านต่างๆเพื่อนำไปปฏิบัติในการแก้ปัญหาใน พื้นที่ที่มีระดับความเสี่ยงที่สูงมาก ทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาวอย่างเป็นระบบ ทั้งด้านการป้องกัน/สร้างเสถียรภาพเชิงวิศวกรรม (ขั้นตอนที่สาม) และการแก้ปัญหาฉุกเฉินในช่วงเกิดพิบัติภัย (ขั้นตอนที่สี่) รวมทั้งการเผยแพร่ให้ความรู้ การฝึกอบรมต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ (ขั้นตอนที่ห้า)
|
รูปที่ 1 ขั้นตอนหลักในการจัดการเพื่อลดความเสียหายจากพิบัติภัยแผ่นดินถล่ม
ในขณะนี้ทางศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศฯ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังทำการศึกษาวิจัยแนวทางการจัดการเพื่อลดความเสียหายจากพิบัติภัยแผ่นดิน ถล่ม ในประเทศไทย โดยได้เริ่มดำเนินการแล้วในบ้างพื้นที่ เช่น บริเวณบ้านน้ำก้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ และบริเวณจังหวัดภูเก็ต (อยู่ในระหว่างการประสานความร่วมมือ และการสนับสนุนการดำเนินงานกับสำนักนายกรัฐมนตรี และกรมพัฒนาที่ดิน) เพื่อใช้เป็นต้นแบบพื้นที่เพื่อทำการวิเคราะห์ และสร้างแบบจำลอง ในการจัดการปัญหาด้านแผ่นดินถล่มตามหลักวิชาการดังกล่าวข้างต้น โดยได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และรีโมทเซนซิ่งร่วมด้วย เพื่อใช้วางแผนสำหรับการปฏิบัติการทั้งในระยะสั้น และระยะยาวในพื้นที่เสี่ยงภัย ที่จะสามารถนำไปปฏิบัติในการป้องกัน เฝ้าระวัง เตือนภัย เพื่อลดความเสียหายจากกรณีดินถล่ม ให้ได้อย่างเป็นพลวัต (dynamics) ซึ่งจะประยุกต์กระบวนการศึกษาวิจัยที่ได้จากพื้นที่ต้นแบบดังกล่าวเหล่านี้ ไปใช้ศึกษาวิจัยในพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทยต่อไป ซึ่งคงต้องใช้ระยะเวลาอีกหลายปีแน่นอน แต่ก็คงต้องเริ่มศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง และมีหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบเป็นหลักในการบริหารจัดการด้วย จึงจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต (สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม ผู้ที่สนใจสามารถดูได้ที่ www.gisthai.org )
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างรอการศึกษาวิจัย และการจัดการอย่างเป็นระบบจากภาครัฐเพื่อลดความเสียหายจากพิบัติภัยดังกล่าว นี้ โดยหน่วยงานหลัก/ทีมหน่วยงานภาครัฐ (ที่ยังไม่ได้มีการกำหนดให้ชัดเจน) การติดตามเฝ้าระวัง และเตือนภัยในเบื้องต้นสำหรับพื้นที่ที่เคยเกิดแผ่นดินถล่ม และน้ำท่วมฉับพลันมาแล้ว หรือในพื้นที่ที่มีลักษณะทางภูมิประเทศคล้ายคลึงกันกับพื้นที่ที่เคยเกิด แผ่นดินถล่ม ก็มีความจำเป็นต้องกระทำอย่างยิ่งเพื่อลดความเสี่ยงให้น้อยที่สุด หน่วยงานที่รับผิดชอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นที่ช่วย เร่งให้เกิด และอาจก่อให้เกิดดินถล่ม และน้ำท่วมฉับพลัน (Extrinsic variables) เช่น การเกิดฝนตกหนักติดต่อกัน กรมอุตุนิยมวิทยา จะสามารถช่วยเตือนภัยได้ในเบื้องต้น แต่ต้องเผยแพร่ข้อมูลที่แม่นยำให้ทันกาล และมีรายละเอียดของพื้นที่ที่ชัดเจนในระดับอำเภอ หรือตำบล (มากกว่าการเผยแพร่ข้อมูลในระดับกว้างๆ) ก็จะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่นั้นๆ เกิดความตระหนัก และเตรียมการเป็นการแก้ปัญหา และบรรเทาความเสียหาย ถ้าเกิดแผ่นดินถล่มและน้ำท่วมฉับพลันขึ้นได้ในระดับหนึ่ง ดีกว่าเกิดแล้วค่อยไปช่วยแบบเดิมๆ ในลักษณะฉุกเฉินเป็นหลัก
ประการสุดท้ายก็คือ สื่อมวลชนทุกด้านคงต้องให้ความสนใจ และความร่วมมือเผยแพร่ข้อมูลประเภทนี้ให้ทันกาลด้วยเช่นกัน แม้จะไม่ใช่จุดขายเหมือนการเสนอข่าวหลังเกิดเหตุการณ์ความเสียหาย หรือเกิดพิบัติภัยก็ตาม เพราะสื่อมวลชนก็สามารถช่วยสังคม และประชาชนที่อาจจะได้รับความเดือดร้อน ได้อย่างมากและมีประสิทธิภาพสูงได้เช่นกัน
ภาพจำลองลักษณะภูมิประเทศบริเวณพื้นที่หมู่บ้านน้ำก้อและน้ำชุน อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ | ||||||||||||||||
|
||||||||||||||||
รูปที่ 1 ตำแหน่งของหมู่บ้านน้ำก้อ และน้ำชุน อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ | ||||||||||||||||
|
||||||||||||||||
รูปที่ 2 บริเวณพื้นที่โดยรอบหมู่บ้านน้ำก้อและน้ำชุน อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ (จุดดำทั้งหลาย คือตำแหน่งของหมู่บ้านต่างๆ) |
||||||||||||||||
|
||||||||||||||||
รูปที่ 3 ภาพจำลองลักษณะภูมิประเทศบริเวณพื้นที่น้ำก้อและน้ำชุน ที่ซ้อนทับด้วยภาพจากดาวเทียม LANDSAT TM 5 เมื่อ วันที่12 ธันวาคม พ.ศ. 2535 และ วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2543 แสดงการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่ช่วง 8 ปี ( ก่อนการเกิดแผ่นดินถล่ม เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2544 ) |
ภาพจำลองลักษณะภูมิประเทศบริเวณเกาะภูเก็ต ที่ซ้อนทับด้วยภาพจากดาวเทียม LANDSAT TM 5 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 | ||||||||||||||||
|