×

Warning

Joomla\CMS\Filesystem\Folder::create: Could not create folder.Path: [ROOT]\images\thumbnails\D:
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สมบัติ อยู่เมือง
ศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศเพื่อประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย [ GISTHAI ]
e - mail : ysombat@chula.ac.th

แผนที่แสดงสภาพการใช้ที่ดินในพื้นที่ศึกษา
การ วางแผนจัดการพื้นที่ที่มีความซับซ้อน มีการคาบเกี่ยวระหว่างหน่วยงานราชการและประชาชนหลายฝ่าย จำเป็นที่จะต้องดำเนินการเป็นขั้นตอนตามลำดับ และมีกิจกรรมเฉพาะในแต่ละขั้นตอน หากการวางแผนจัดการไม่เหมาะสม จะมีผลกระทบต่อกระบวนการการวางแผนทั้งหมด ตลอดเวลาที่ผ่านมา การวางแผนการบริหารจัดการที่ดิน และการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งในการใช้ประโยชน์ ปัญหาการบุกรุก ปัญหาการจัดสรรที่ดินทำกิน มีการใช้ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะข้อมูลเชิงพื้นที่เข้ามาช่วยในการวางแผนและการตัดสินใจน้อยมาก ซึ่งทำให้การตัดสินใจและการวางแผน ไม่มีพื้นฐานของข้อเท็จจริงหรือข้อมูลรองรับ ทำให้ผลลัพธ์ของการตัดสินใจขาดความสอดคล้องกับสภาพความเหมาะสมในการใช้ ประโยชน์ในแต่ละพื้นที่ และที่สำคัญคือไม่มีเหตุผลหรือข้อเท็จจริงที่ชัดเจนและเป็นจริง ที่สามารถสร้างการยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะสามารถลดข้อขัดแย้งในการใช้ประโยชน์ที่ดินได้ ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการจัดการที่ดินที่เหมาะสมและ ยั่งยืน จึงควรอิงอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและข้อเท็จจริงของพื้นที่เป็นเงื่อนไขหลัก ซึ่งการศึกษานี้ได้ทำการพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อสนับสนุนการตัดสิน ใจในการบริหารจัดการที่ดิน (Geographic Information System for Land Management Decision Support) โดยระบบจะประกอบด้วยข้อมูลฐานข้อมูลในเชิงพื้นที่ (Spatial Database) ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ดิน

การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาโดยคณาจารย์และนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยร่วมกันดำเนินการศึกษา เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) เทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) และแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ในการวางแผนจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำ โดยพิจารณาจากปัจจัย ข้อจำกัดด้านต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์พื้นที่ อันได้แก่ ปัจจัยทางด้านกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ รวมทั้งสภาพทางกายภาพของพื้นที่ อันได้แก่ ลักษณะความลาดชัน การใช้ประโยชน์ที่ดิน ตลอดจนความเสี่ยงของพื้นที่ในการเกิดดินถล่ม-น้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งนับได้ว่าเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง จากการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เป็นต้น ซึ่งกระบวนการวางแผนการจัดการพื้นที่นั้นจำเป็นต้องมีการผสานศาสตร์ด้านต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ในการศึกษาครั้งนี้ได้พยายามพัฒนาต้นแบบของระบบสนับสนุนการตัดสินใจในการวาง แผนจัดการพื้นที่ โดยใช้โปรแกรมประยุกต์ ModelBuilder ร่วมกับภาษา Avenue Script ซึ่งเป็นโปรแกรมสำหรับพัฒนาโปรแกรมประยุกต์บนโปรแกรม ArcView GIS ซึ่งสามารถให้ผู้ใช้ทำการปรับเปลี่ยนค่าพารามิเตอร์ต่าง ๆ ที่สำคัญ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการวางแผนเชิงพื้นที่ และสามารถนำโปรแกรมประยุกต์ดังกล่าวไปใช้ในการวางแผนเชิงพื้นที่ในบริเวณ อื่นได้

ระบบที่พัฒนาขึ้นสามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์ความเหมาะสมในการใช้ประโยชน์ พื้นที่ให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงในพื้นที่นั้นๆ และสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งผลการวิเคราะห์ดังกล่าว จะเป็นข้อมูลพื้นฐานในการตัดสินใจ ที่นำไปสู่การจัดทำแนวทาง และวางมาตรการ ข้อตกลงในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและการใช้ประโยชน์ที่ดินของประชาชนหรือ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อหาข้อตกลง ข้อยุติร่วมกันในการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ เพราะที่ดินถือเป็นต้นทุนทางสังคม และเป็นต้นทุนในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ซึ่งการใช้ประโยชน์ที่ดินของแต่ละบุคคล จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมอื่นๆ ที่อยู่บริเวณข้างเคียงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง การถือสิทธิครอบครองนั้นเป็นเรื่องของส่วนบุคคล แต่การใช้ประโยชน์ที่ดินควรเป็นสิทธิของส่วนรวม สิทธิของประชาชนในพื้นที่ที่จะสามารถร่วมกันกำหนดมาตรการ วางแผน ควบคุมและดูแลการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ และไม่สร้างผลกระทบให้กับสิ่งแวดล้อมและกิจกรรมอื่นๆ ในบริเวณข้างเคียง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน



ลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินจากการแปล
ความหมายข้อมูลดาวเทียมในปี พ.ศ. 2545
จากการศึกษาพบว่า หน่วยงานของรัฐได้มีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่แห่งเดียวกัน ซ้อนทับกันหลายหน่วยงาน เช่น กรมป่าไม้ กรมประชาสงเคราะห์ กรมพัฒนาที่ดิน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาในปัจจุบันที่เป็นอยู่ คือ ที่ดินของรัฐทุกประเภทถูกประชาชนบุกรุกเข้าไปอยู่อาศัยหรือทำประโยชน์ใน ที่ดินโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย มีสาเหตุหลายประการ ที่สำคัญคือ การเพิ่มขึ้นของประชากรของประเทศอย่างรวดเร็วทำให้ต้องการที่ดินทำกินเพิ่ม ขึ้น การพัฒนาเศรษฐกิจโดยมุ่งรายได้จากการส่งออกจึงขยายพื้นที่เพาะปลูก อย่างกว้างขวาง นโยบายของรัฐที่ผ่อนผันการทำกินในที่ดินของรัฐตลอดมา และการบังคับใช้กฎหมายที่มีปัญหาในทางปฏิบัติหลายประการ

ที่ผ่านมารัฐได้ใช้มาตรการทางกฎหมายและการบริหารเพื่อแก้ปัญหาการบุกรุก ที่ดินของรัฐตลอดมา เช่น การให้กรมป่าไม้ทำเครื่องหมายแนวเขตป่าไม้ให้ชัดเจน การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงซึ่งเป็นที่สาธารณะในท้องที่ต่าง ๆ มีการกันพื้นที่ที่ประชาชนบุกรุกทำกินมาเป็นเวลานานให้นำไปออกเอกสารสิทธิ หรือให้ปฏิรูปที่ดิน นอกจากนั้นยังได้มีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ และออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวก็ได้วางนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐจนถึงปัจจุบัน แต่การบุกรุกที่ดินของรัฐก็ยังคงมีอยู่และมีความซับซ้อนมากขึ้นเนื่องจาก ทรัพยากร และสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้เปลี่ยนแปลงไป

การวางแผนการบริหารจัดการพื้นที่ ถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และเปราะบาง ซึ่งนอกจากจะต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ รอบด้าน ทั้งปัจจัยด้านประชากร เศรษฐกิจและสังคม รวมถึงปัจจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังต้องมีการใช้เทคโนโลยีทางด้านข้อมูลและสารสนเทศเชิงพื้นที่ ที่มีศักยภาพสูงในการช่วยเหลือในการเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ และประมวลผล รวมถึงการทดลองสร้างแบบจำลองเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ เพื่อให้การบริหารจัดการดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เป็นเครื่องมือที่จะช่วยในการวิเคราะห์ปัญหาที่ มีความสลับซับซ้อนนี้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สำคัญที่สุดที่ไม่อาจละเลยได้ในกระบวนการบริหารจัดการแบบบูรณาการ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการพื้นที่ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้กำหนดไว้อย่างชัดเจน


กระบวนการวางแผนแบบใหม่ที่มีการกำหนดวัตถุประสงค์และหลักเกณฑ์อย่างชัดเจน

แผนที่แสดงการใช้ประโยชน์พื้นที่ในปัจจุบัน

การบริหารจัดการพื้นที่ของรัฐอย่างยั่งยืนนั้น ควรจะต้องมีการศึกษาสภาพของสาเหตุและปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐประเภทต่าง ๆ แนวทางการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐของส่วนราชการและองค์กรต่าง ๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือ เพื่อจะได้ทราบแนวทางที่เหมาะสมในการกำหนดนโยบายการแก้ไขปัญหาการบุกรุก ที่ดินของรัฐต่อไป เนื่องจากในแต่ละพื้นที่ก็มีลักษณะทางกายภาพ ข้อจำกัดในด้านกฎหมาย ลักษณะการใช้ประโยชน์ ที่แตกต่างกันไป ไม่สามารถจะนำเอาวิธีการบริหารจัดการพื้นที่ในที่แห่งหนึ่ง ไปใช้วางแผนจัดการพื้นที่อีกพื้นที่หนึ่งได้อย่างทันที เนื่องจากประเด็นสำคัญคือ การยอมรับและการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งการมีข้อมูลที่มีความชัดเจน เหมาะสม และทันต่อสภาพเหตุการณ์นั้นจะช่วยลดข้อขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นจากการวางแผนได้

ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์และเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกลนั้น เป็นเครื่องมือที่มีความเหมาะสมในการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีความขัดแย้งและ สามารถปรับเปลี่ยนเงื่อนไขที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ได้เป็นอย่างดี ภาครัฐจำเป็นที่จะต้องมีการตื่นตัวในการใช้งานเทคโนโลยีในแขนงนี้ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม อันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงลักษณะการทำงานของภาครัฐ จากเดิมซึ่งเป็นการทำงานในลักษณะตั้งรับ คอยแก้ปัญหา เป็นการทำงานในเชิงรุก ในการวางแผนการจัดการให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมและการใช้ประโยชน์ของ ประชาชนมากที่สุด